วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ หรือสุสานแห่งความตายของประชาชน?

เนื่องจากใกล้วันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักทุกทีแล้ว เราจึงนำประวัติทัชมาฮาล ตำนานความรักอันยาวนานมาให้ท่านทำความรู้จักกัน 

ทัชมาฮาล

"ทัชมาฮาล" 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก แห่งประเทศอินเดีย สถานที่นี้คนทั่วไปต่างรู้กันว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันเกิดจากความรักที่ไม่ลืมหูลืมตาและความเศร้าที่สุดแสนจะคณานับของจักรพรรดิชา ห์ ชหาน กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โมกุล(Mughal Empire India) ที่ปกครองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 พระเจ้าชาห์ ชหาน ได้พบกับบุตรสาว อรชุมันท์ พานุ เพคุม บุตรสาวของรัฐมนตรีเมื่ออายุ 14 พรรษา และหลงรักนางตั้งแต่แรกเจอต่อมาในอีก 5 ปี พระองค์และอรชุมันท์ พานุ เพคุมก็ได้อภิเษกสมรสกันในปี พ.ศ.2155 นับตั้งแต่นั้นมาทั้ง 2 ก็ไม่เคยอยู่ห่างกันอีกเลย


ซุ้มประตูทางเข้าทัชมาฮาล

ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักหรือความตาย?

ประตูทางเข้าด้านหน้าก่อนจะมองเห็นตัวทัชมาฮาล


ตลอดระยะที่อยู่ร่วมกันกับพระมเหสี หรือนามที่พระเจ้าชาห์ ชหาน ตั้งให้ว่า "มุมตัช มาฮาล" อันแปลว่าอัญมณีแห่งราชวัง เป็นภรรยาที่สุดแสนประเสริฐ ทั้งติดตามพระเจ้าชาห์ ชหานไปออกรบ ช่วยงานราชการ คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจ อีกทั้งยังมีความเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ทั้งหมดนั้นทำให้กษัตริย์ชาห์ ชหานทรงประทับใจและรักพระมเหสีอย่างที่สุด

 แต่เมื่อครองคู่กันมาเป็นเวลา 18 ปี มุมตัช มาฮาลก็ได้ให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 แต่หลังจากให้กำเนิดพระธิดาพระนางตกเลือดมาก อยู่ได้เพียงไม่นานพระนางก็สิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของพระเจ้าชาห์ ชหาน ซึ่งการสิ้นพระชนม์นี้นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจแก่พระเจ้าชาห์ ชหานอย่างมากมายมหาศาล พระองค์ทรงหมกมุ่นอยู่ในความทุกข์เศร้าโศกเสียใจตลอดเวลาไม่ทรงยิ้มไม่ทรง หัวเราะใดๆ ปล่อยพระวรกายจนผมที่ดำกลายเป็นสีขาวทั้งศีรษะ ในทุกวัน พระองค์จะทรงนุ่งขาวห่มขาวไปนั่งรำพันถึงพระมเหสีของพระองค์ ข้างๆหลุมศพอย่างกับคนเสียสติ
ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักหรือความตาย?   

โลงศพของพระเจ้าชาห์ ชหาน และพระนางมุมตัช มาฮาล สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวล

ด้วยความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดไม่ได้พระองค์จึงทรงสร้างอนุสรณ์แห่งความรัก ของพระองค์กับพระมเหสี โดยทรงเลือกทำเลที่ดีที่สุดบริเวณริมโค้งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ แห่งรักนี้ และพระองค์ก็ทรงทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการวางแผนเขียนแปลนก่อสร้างด้วยพระองค์เอง และก็ได้ทรงจ้างสถาปนิกและช่างชาวอาหรับที่มีฝีมือมากมายเพื่อระดมสติปัญญา และกำลังในการก่อสร้างอนุสรณ์แห่งนี้ให้สำเร็จ

การสร้างครั้งนี้ใช้แรงงานผู้คนมากมายกว่า 20,000 คน ราชสมบัติส่วนใหญ่ที่มีได้สูญเสียไปกับการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของ พระองค์ กินเวลานานถึง 22 ปี อนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ก็เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงาม และพระองค์ก็ทรงให้ชื่อว่า "ทัชมาฮาล" (Taj Mahal) 


หลายปีต่อมาหลังจากสร้างอนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาลเสร็จสิ้น ได้เกิดศึกชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระโอรสของพระองค์เอง ในระหว่างนั้นเจ้าชายโอรังเซบ (Aurangzeb) พระโอรสของพระองค์ก็ได้จับพระเจ้าชาห์ ชหาน ไปกักขังอยู่ที่ป้อมเมืองอัคราซึ่งอยูฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับทัชมาฮาล ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เสียสติ แล้วขึ้นครองบัลลังก์แทน

ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักหรือความตาย?
ป้อมอัครา ที่ดูสูงใหญ่มั่นคงและแข็งแกร่ง

ระหว่างที่ถูกกักขังพระองค์ทรงมองทัชมาฮาลและรำพันถึงพระมเหสีของ พระองค์ตลอด 8 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ.1666 ในวันสุดท้ายก่อนสวรรคตพระเจ้าชาห์ ชหานใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล หลังจากนั้นพระโอรสก็ได้นำพระศพของพระองค์มาฝั่งไว้เคียงข้างพระมเหสีที่ พระองค์รักใคร่มิเคยลืมเลือน

แต่ก่อนที่พระเจ้าชาห์ ชหานจะสิ้นพระองค์มีพระราชดำริจะสร้างสุสานของพระองค์เองด้วยหินอ่อนสีดำที่ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนา พระราชโอรสของพระองค์ทราบก็ทรงกลัวกับค่าใช้จ่ายอันมหาศาลจึงทำการยึด บัลลังก์พร้อมกักขังพระเจ้าชาห์ ชหานไว้ที่ป้องอัครา

เรื่องราวที่ฉันเล่ามานั้นเป็นหนึ่งในหลายตำนานของทัชมาฮาล ซึ่งนอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าว่า หลังจากที่สร้างทัชมาฮาลเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าชาห์ ชหานทรงหลงใหลในความงามของทัชมาฮาลและเกรงว่าเหล่าสถาปิกผู้ร่วมออกแบบและ ผู้สร้างทั้งหลายจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นนี้อีกจึงได้ทรงสั่ง ประหาร หรือตัดมือ ตัดขา ควักลูกตา ช่างทุกคนไม่ให้มีโอกาสได้สร้างผลงานที่สวยเท่านี้อีก

รูปภาพปก
นี่คืออนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ หรืออนุสรณ์แห่งความตายของประชาชนมากมาย ที่ต้องล้มตายเพื่อบูชาความรักของตนเอง เพียงคนเดียว ซึ่งตามหลักศาสนาแล้วถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง แต่หากไม่ได้ความรักอันหน้ามืดตามัวของพระเจ้าชาห์ ชหานก็คงไม่มีทัชมาฮาล มรดกโลกที่สร้างสรรค์จากฝีมือมนุษย์ที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ของโลกให้เราได้โจษขานกันเช่นนี้    


นับเป็นความขัดแย้งทางความรู้สึกของทัชมาฮาลที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองมุมไหน หรือมองทั้ง 2 มุมแล้วนำมาเป็นอุทาหรณ์ และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเราเอง



เครดิต  : http://www.manager.co.th

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.