วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับสุขภาพ 7 ประการ - ว่าด้วยเรื่องการสร้างสรรค์พลังจิต


เคล็ดสุขภาพ 7 ประการ - สร้างสรรค์พลังจิต

เรามาถึงประการสุดท้ายของการรับปีใหม่ด้วยเคล็ดสุขภาพ 7 ประการอันได้แก่

1.รักษาฟัน ต้องระวังฟลูออไรด์
2.กินไข่ ได้สุขภาพ
3.ดื่มน้ำควอนตัม
4.วัยทอง ไม่ต้องกินฮอร์โมนเสริม
5.นอนหัวค่ำตื่นเช้า
6.เสพสื่อสุขภาพ 
7.สร้างสรรค์พลังจิต

   การสร้างสรรค์พลังจิตไม่ใช่เรื่องเชยอีกต่อไป สมัยนี้อย่าว่าแต่ชาววัดเลย แม้กระทั่งชาวสำนักงานก็นิยมการสร้างสรรค์พลังจิตกันทั้งนั้น อาจกล่าวได้ว่าคนสมัยนี้ถ้าใครไม่รู้จักวิธีสร้างสรรค์พลังจิต ก็กำลังจะตกยุคไป เพราะกระแสโลกได้ก้าวผ่านไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว จากยุคของเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสาร มาสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคมโนทัศน์ (conceptual age)

"อย่ามองข้ามเรื่องพลังจิต" เป็นหัวข้อหนึ่งในหนังสือของ แดเนียล พิงค์ เรื่อง "A Whole New Mind" ซึ่งแบ่งบุคแบ่งศักราชว่า โลกสมัยนี้ก้าวเข้าสู่ยุคมโนทัศน์แล้ว เขาให้ข้อมูลว่า "พลังจิตมีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของเรา และอาจมีคุณค่ามากกว่าวัตถุใดๆ ตัวอย่างเช่นโรคร้ายที่คุกคามชีวิตมนุษย์ปัจจุบันอย่างโรคเครียด โรคหัวใจและอื่นๆ สามารถบรรเทาได้ด้วยพลังจิต"

มหาวิทยาลัยดุ๊กพบว่า คนที่สวดมนต์บ่อยๆโดยเฉลี่ยจะมีความดันเลือดต่ำกว่า มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ ก็พบว่ การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากหัวใจวาย ฆ่าตัวตาย และมะเร็ง งานวิจัยอื่นพบอีกว่า ผู้หญิงที่ให้ความสำคัญต่อการค้นหาความหมายของชีวิต จะมีเซลล์ที่สามารถโจมตีไวรัสและเซลล์มะเร็งมากกว่า อีกงานวิจัยหนึ่งที่มาหวิทยาลัยดาร์ทมัทพบว่าการอยู่รอดของผู้ป่วยจากการผ่าตัดหัวใจขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาและแรงอธิษฐาน คนที่ไปโบสถ์ตามความเชื่อทางศาสนาของตน โดยมากมักมีชีวิตยาวกว่าคนที่ไม่ไป

เรื่องของจิตคนไทยเราเคยรู้จัก ที่เป็นพื้นฐานที่สุดเห็นจะได้แก่การนั่งสมาธิ ที่ปฏิบัติถึงขั้นลึกซึ้งก็เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อมามีการดึงเอาสมาธิมาสัมพันธ์กับสุขภาพ และการออกกำลังกาย สำหรับเมืองไทยพัฒนามา 2 สายใหญ่ๆคือ ที่ถือเป็น body mind connectedness ได้แก่ไท้เก็กชี่กง กับโยคะ

การฝึกโยคะเริ่มจากอาจารย์ชด หัสบำเรอ ผู้เผยแพร่หฐโยคะคนแรกของเมืองไทย ปัจจุบันมีอีกหลายสาย เช่นอนัตตมรรค ซึ่งเป็นตันตระโยคะฝ่ายขวา ที่เน้นความสงบทางใจ ไปถึงตันตระโยคะฝ่ายซ้ายที่นำมาสัมพันธ์กับโลกิยวิสัย อาจวัดได้ในการปฏิบัติกามกิจบรรลุจุดสูงสุดทางเพศโดยมิต้องหลั่ง ในขวบปีหลังโยคะถูกเผยแพร่ผ่านบริษัทด้านฟิตเนส เสนอการปฏิบัติโยคะร้อน ที่เน้นด้านการออกกำลังกาย

สำหรับไท้เก็ก คนจีนในไทยรำไท้เก็กกันมามากกว่า 50 ปีแล้ว ถือกันว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากเตียซำฮง สำนึกบู๊ตึ๊งเลยทีเดียว แต่มิได้เน้นเรื่องลมหายใจ ต่อมาแพทย์ที่สนใจเรื่องนี้คือ นพ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรืองได้นำแพทย์จีนที่มีวิชาชี่กงมาแนะนำให้ผมรู้จักและขอกราบกรานเป็นศิษย์ แล้วผมก็ได้รู้จักนพ.เทอดศักดิ์ เดชคง จิตแพทย์ที่สนใจฝึกชี่กงอีกผู้หนึ่ง เราศึกษาชี่กงกับการบำบัดโรคคู่ขนานกัน มาภายหลังอาจารย์ธิเบศร์ได้เอยแพร่วิชาฝึกวูซูอย่างกว้างขวาง และวูซูก็ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กรุงโซลเป็นครั้งแรก โดยนักกีฬาวูซูของไทยได้รับเหรียญทองจากงานดังกล่าว วูซูจึงกำลังพัฒนาอย่างขึ้นหน้าขึ้นตาในเมืองไทยด้วย มีทีมแพทย์ที่รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ตั้งชมรมฝึกวูซูอย่างจริงจัง เคยออกแสดงในงานต่างๆมากมาย

การฝึกลมหายใจสร้างเสริมพลังจิต นำสู่สุขภาพกระทั่งบำบัดโรค ผู้ที่เผยอย่างจริงจัง ยังมีอีก 2 ท่าน หนึ่งคือ อ.มล.อัคนี นวรัตน มือวางอันดับหนึ่งของเมืองไทย ที่ใช้คริสตัล เทียนสี ควันธูป และขนนกบำบัดโรค ท่านเป็นผู้อธิบายให้ผมได้รู้จักพลังของสินแร่ แล้วไปเข้าใจคุณสมบัติของผ้าที่ถักทอด้วยเส้นใยซึ่งโมเลกุลมีการเรียงเป็นระเบียบ สามารถปลดปล่อยคลื่นความถี่ต่ำ ใช้บำบัดสุขภาพได้ จนสามารถเข้าใจเชื่อมโยงไปถึง น้ำประจุพลังชนิดต่างๆ ตั้งแต่ น้ำบำบัดแบบโฮมิโอพาธี น้ำควอนตัมรูปแบบต่างๆ ไปจนล่าสุด น้ำต้านอนุมูลอิสระ

อีกท่านคือ พระ ดร.สิงห์ทน นราสโภ ซึ่งใช้ตัวท่านเองเป็นตัวอย่างของการหายจากมะเร็งด้วยการฝึกพลังรังษีธรรม ปฏิบัตินิสสัยสี่ และสวดมนต์เสียงดังๆให้มีคลื่นความถี่มากกว่า 7 เสียง สุดท้ายได้ร่วมกับอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ สร้างสรรค์CD ที่ชื่อว่า ดุริยมนตรา เพื่อการบำบัดโรคและปฏิบัติธรรม

ในอีกด้านหนึ่งมีอาจารย์พยาบาล 2 ท่านพัฒนาเรื่องพลังจิตอย่างเป็นหลักวิทยาศาสตร์ ได้แก่อาจารย์สมร อริยานุชิตกุล ศึกษาและพัฒนาชี่กงท่านิ่ง ที่เรียกว่าการยืนอรหันต์ ใช้บำบัดโรคด้วยการเสริมพลังของเส้นโคจรและขับไอโรคออกไปจากร่างกาย อาจารย์สมพร กันทรดุษฎี ศึกษาและเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ยืนจงกรมบำบัดเบาหวาน และท่าโยคะรักษาความดันเลือดสูง ซึ่งแพทย์รุ่นถัดมาของบัลวีได้นำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังในการรักษาผู้ป่วย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ในเมืองไทย พัฒนาคู่ขนานไปกับต่างประเทศ ความที่สังคมโลกก้าวสู่ยุคข้อมูลข่าวสารทำให้แพทย์เริ่มเกิด "ความง่าย" ในการรักษาผู้ป่วย หน้าที่ของแพทย์เริ่มถูกถ่ายโอนไปสู่คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งวิชาชีพนี้กำลังจะกลายเป็น "เครื่องจักรรักษาผู้ป่วย" ไปเสียแล้ว แพทย์จะให้ความสนใจกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมต่างๆที่ตรวจและวัดได้จากผู้ป่วย มากกว่านามธรรมในตัวผู้ป่วย เช่น อัตราชีพจร ความดันเลือด ระดับไขมัน น้ำตาล ระดับฮอร์โมน หรือตัวบ่งวัดทางมะเร็ง ผลบวกหรือลบของยีนผิดปกติ มากกว่าสิ่งที่เป็น "เรื่องเล่า" จากปากของผู้ป่วย นพ.แจ็ค โคลฮาน มหาวิทยาลัยสโตนนี่บรูคที่นิวยอร์กกล่าวว่า "โชคร้ายที่การแพทย์มองเรื่องเล่าว่าเป็นศาสตร์ขั้นต่ำที่สุด" ผู้ป่วยที่ไปหาหมอจึงมักพบว่าตัวเองอาจรอแพทย์อยู่กว่าชั่วโมง เมื่อมีโอกาสพบแพทย์ เขาจะเริ่มเล่าเร่อง แล้วหมอก็จะขัดจังหวะ มีนักวิจัยบันทึกภาพในห้องตรวจ พบว่าแพทย์จะขัดจังหวะการเล่าเรื่องของผู้ป่วยภายในเวลาเฉลี่ย 21 วินาที นั่นเป็นงานวิจัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการวิจัยใหม่ก็พบว่า แพทย์ปรับปรุงตัวเองดีขึ้น พวกเขารอนานถึง 23 วินาทีก่อนที่จะโพล่งออกมา

ด้วยเหตุนี้พญ.ริต้า ชารอน มหาวิทยาลัยโคลัมเบียจึงพยายามพัฒนาการ "การแพทย์เชิงบรรยาย" เป็นทางออกหลักของการตรวจรักษาโรค เธอพบว่า ถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยเล่า เล่า เล่า และแพทย์ก็ฟัง ฟัง ฟัง นั่นนำมาสู่การเข้าถึงจิตใจผู้ป่วย แล้วจึงทำการรักษา แล้วผลการรักษากลับจะดีขึ้น เธอกล่าวว่า "แท้จริงมนุษย์มีกลไกในสมองอันซับซ้อน ที่เหนือกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ในการเข้าถึงจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน"

ณ จุดนี้ แดเนียล พิงค์ จึงเขียนหนังสือของเขาพูดถึงอนาคตของโลกในยุคมโนทัศน์ โดยปลุกผู้คนชาวอเมริกันว่า ทุกวันนี้คนเอเชียเช่นอินเดีย จีน และฟิลิปปินส์กำลังรับงานแรงงานสมองแทนคนอเมริกัน อย่างวิศวกรคอมพิวเตอร์ ระบบอัตโนมัติก็กำลังเข้าแทนที่ทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน คำถามที่ผู้ต้องการประสบความสำเร็จในยุคนี้จะต้องตอบก็คือว่า "จะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จในโลกอนาคต"

เขาให้คำตอบว่า "ในอนาคต คนที่คิดด้วยสมองซีกขวากำลังจะครองโลก"

สมองซีกขวาทำงานต่างกับสมองซีกซ้ายอย่างไร สมองซ้ายซีกซ้ายทำงานโดยลำดับ คิดเหตุผล ค้นหาคำตอบในคอมพิวเตอร์ ตั้งโปรแกรม ศึกษาวิจัยค้นคว้าทางวิทยาการ แต่สมองซีกขวาทำงานประสานสัมพันธ์ มองภาพรวม สร้างแรงบันดาลใจ ศิลปะ และศรัทธา เขาเสนอว่าคนอเมริกันใช้สมองซีกซ้ายมาเยอะแล้ว และคนเอเชียกำลังมารับช่วงภาระกิจนี้ต่อ ถ้าต่อไปคนอเมริกันจากครองโลกได้ ต้องครองโลกด้วยสมองซีกขวา คือ ใช้การ "สร้างสรรค์" และ "โดนใจ" ในการผลิตสิ่งต่างๆเพื่อครองตลาด และสร้างคุณค่าชีวิตต่อไป

รวมความแล้ว พวกเขาก็กำลังทำสิ่งที่เรียกว่า "Eastern learning" กันอีกรอบหนึ่ง เพราะเอกลักษณ์ของชาวเอเชียคือ การใช้มโนทัศน์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์หรือศิลป์ใดๆก็ตาม ไม่เชื่อลองดูความดังและความขลังของ จาตุคามรามเทพ ก็แล้วกัน

บทความโดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล



ขับเคลื่อนโดย Blogger.