วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

ทัวร์บุญ ที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี


" ถามโยมที่มาวัดว่า โยมมาทำไม เขาบอกว่ามาขอบุญ อาตมาบอกให้ไปฟังบนศาลา เดี๋ยวจะสอนเด็ก จะได้ไปเลี้ยงลูกรวย สวย เก่ง เขาบอก ไม่ฟังหรอกเจ้าค่ะ จะขอบุญสักหน่อย จะคอยอยู่ที่กุฏิ ก็จับได้เลยว่า คนไทยชอบทำบุญ ธรรมะไม่เอา ความสุขก็ไม่รู้ แล้วจะไปเอาบุญช่วยได้ยังไง"


วัดอัมพวัน ::

วัดอัมพวัน ::  เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก สภาพทั่วไปนั้น มีต้นไม้ประมาณ ๓๐๐ ต้น เป็นไม้ดอก - ไม้ใบ ที่ปลูกใหม่ เดิมสภาพพื้นที่จะเป็นที่ที่น้ำท่วมถึง มาบัดนี้ทางวัดได้ทำถนน - คูกั้นน้ำ จึงสามารถป้องกันน้ำไว้ได้ จึงได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น

หลักฐานการตั้งวัด

จากการสำรวจทางราชการประมาณกาลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๗๕ การสร้างอุโบสถ ผูกพัทธสีมา มาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ ๓ ครั้งที่ ๒ นี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๗๐ เมตร และได้ผูกพัทธสีมา วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓

ประวัติความเป็นมาของวัด

วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นชื่อเดิมมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ศิลาจารึกในอุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่า คนจีนได้สร้างอุโบสถวัดอัมพวัน สมัยเหม็งเชี้ยว คนจีนได้นำเรือกำปั่นมาทำการค้าขายกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองลพบุรี มากับฝรั่งชาติฮอลันดา จอดหน้าวัดอัมพวัน ได้สร้างโบสถ์วัดอัมพวัน สมัยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันชื่อ พระครูญาณสังวร อายุ ๙๙ ปี สร้างโบสถ์เสร็จแล้ว ฝรั่งเพื่อนคนจีนได้ขอพระราชทาน พระหน้าปรกหินทั้งสององค์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้คนจีนเอาไว้ในโบสถ์ จนถึงการสร้างโบสถ์หลังใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
·      อุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดและพังลง เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๓ ปีจอ เวลา ๐๙.๔๕ น.
·      ได้รื้อถอนเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ด้วยแรงชาวบ้านและรถยกของ ป.พัน ๑๐๑ มาช่วยกันรื้ออุโบสถ เสร็จเรียบร้อยภายใน ๔ วัน
·      เริ่มก่อสร้างอุโบสถ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๑ วางศิลาฤกษ์ ๑๔-๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๒ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเวลาการก่อสร้าง ๑ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน
·      ผูกพัทธสีมาวันที่ ๘-๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓



การเดินทางโดยรถประจำทาง

การเดินทางไปวัดโดยรถประจำทางนั้นสามารถขึ้นรถได้หลายจุด

๑. หมอชิตใหม่
๒. แถวสวนจตุจักรป้ายลาดพร้าว (ตรงข้ามเซ็นทรัลลาดพร้าว) เส้นวิภาวดีรังสิต
๓. ป้ายรถเมล์หน้าวัดดอนเมือง ตรงที่มีทางเบี่ยงเข้าไปสำหรับรถประจำทางจอด
๔. ป้ายรังสิต ตรงข้ามศูนย์การค้าใหญ่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต (ฝั่งโรบินสัน)


๑. หมอชิตใหม สามารถไปซื้อตั๋วได้ที่ช่อง ๑๓ รถสิงห์บุรีครับ ราคา ๙๐ บาท หากซื้อไปกลับก็จะราคาเที่ยวละ ๗๐ บาท ครับ ไปกลับรวมเป็น ๑๔๐ บาท โดยตั๋วจะมีอายุ ๗ วัน ซื้อตั๋วได้เฉพาะที่ท่ารถสิงห์บุรีและกรุงเทพฯเท่านั้น ตอนกลับเราสามารถโทรไปบอกที่ท่ารถ ให้เขาจองที่นั่งไว้ให้ได้ พอมารับที่หน้าวัดก็จะมีที่นั่งให้ครับ โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ๐๒-๙๓๖-๓๖๖๐, ๐๒-๙๓๖-๓๖๖๖
รถสิงห์บุรีจะออกทุก ๔๐ นาที มีรถตั้งแต่ ตี ๕ ครับ หากจะไปให้ทันลงทะเบียนให้ทัน ควรขึ้นรถจากหมอชิตก่อนบ่าย ๒  สำหรับขากลับรถออกจากสิงห์บุรีรอบสุดท้ายประมาณ ๖ โมงเย็น มาถึงหน้าวัดประมาณ ๖.๓๐ น.
๒. หากขึ้นรถที่ลาดพร้าว, ดอนเมือง, รังสิต หรือระหว่างทาง รถโดยสารที่สามารถขึ้นได้ก็จะเป็น สิงห์บุรี ชัยนาท ตาคลี อุทัย บางคันก็จะมีป้ายวัดอัมพวันติดไว้ที่หน้ารถเลยครับ ค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง ๖๐-๘๐ บาท สามารถบอกคนเก็บเงินได้เลยครับว่าจะไปวัดอัมพวัน ทุกคนจะช่วยเหลือเป็นอย่างดี




การเดินทางโดยรถตู้
สามารถขึ้นรถตู้สายกรุงเทพฯ-อุทัยธานี รถจะจอดอยู่บริเวณใต้ทางด่วนด้านพหลโยธินฝั่งสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ และอีกฝั่งหนึ่ง บริเวณใต้ทางด่วนฝั่งโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งให้แจ้งว่าจะลงที่วัดอัมพวัน รถตู้ก็จะจอดที่เดียวกับรถประจำทาง ค่าโดยสารประมาณ ๑๘๐ บาท รถตู้เที่ยวแรกจะออกเวลา ๙ โมงเช้า

การเดินทางเข้าวัด
รถจะจอดส่งตรงปากทางเข้าวัดพอดี จะมีวินรถมอเตอร์ไซค์อยู่ปากทางครับ ค่าโดยสาร ๑๕ บาท สะดวกปลอดภัย มีทั้งผู้ชายและผู้หญิงขี่ครับ
หรือจะใช้วิธีการเดินเข้าไปก็ได้ ระยะทางราว ๘๐๐ เมตร ปลอดภัยทั้งกลางวันกลางคืน สองฟากข้างทางโล่ง มีบ้านคนแถวนั้นราว ๕-๖ หลัง ครับ
เมื่อไปในวัดแล้ว สักประมาณ ๑๐๐ เมตร จะเห็น ๓ แยก ให้เลี้ยวซ้ายครับ (หากตรงไปจะเป็นกุฏิหลวงพ่อ) แล้วเดินตามทางไป สังเกตทางแยกด้านซ้ายมือจะเป็นศาลาลงทะเบียน

การเดินทางกลับ
สำหรับรถโดยสารขากลับเข้ากรุงเทพ เมื่อออกจากปากทางเข้าวัดมาที่ถนนใหญ่แล้ว สามารถเดินข้ามไปรถขึ้นรถที่ศาลาที่ฝั่งตรงข้ามวัด รถประจำทางจะจอดรับแทบทุกคัน และจะส่งเราลงได้ที่ป้ายรังสิต ท่าอากาศยานดอนเมือง ต่อจากนั้นรถก็จะเข้าไปจอดที่สถานีขนส่งเลย



ขับเคลื่อนโดย Blogger.